‘ชาติชาย’โชว์ผลงาน 5 เดือนออมสิน ก่อนส่งต่อ ‘วิทัย’ ดูแล 3 ยุทธศาสตร์

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ธนาคารออมสินได้ดูแลลูกค้าร้ายย่อย และเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ได้รับพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือน ต.ค.63 ไปแล้ว 3.10 ล้านราย วงเงินรวม 1.14 ล้นล้านบาท

และให้ความช่วยเหลือสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระและรายได้ประจำ วงเงินกู้สูงสุด 10,000-50,000 บาท โดยมีผู้ยื่นกู้แล้วถึง 3.02 ล้านราย และธนาคารอนุมัติไปแล้ว 6 แสนราย ซึ่งคาดว่าจะปล่อยกู้ได้ทั้งหมดภายในเดือนมิ.ย.นี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้แล้ว 1.3 สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2563 (1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2563) ของธนาคารออมสิน มีเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 2,158,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 5,646 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 5,039 ล้านบาท สูงกว่าแผนปี 2563 ซึ่งส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 19,552 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ จำนวน 1,892 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 2,313 ล้านบาท

ขณะที่ยอดเงินรับฝากฯ ธนาคารมีกว่า 2,478,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 65,597 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2,877,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 80,433 ล้นบาท ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 62,077 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.88 ของสินเชื่อรวม

“คาดว่าปีนี้จะทำกำไรได้ไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่าหลังมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสิ้นสุด ลูกค้าก็ยังไม่หวนกลับมามีรายได้ และจะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นด้วย คาดว่าช่วงเดือนธ.ค. จะมี NPL สูงถึง 3.5% ฉะนั้น ออมสินจะต้องเร่งแก้หนี้ให้กับลูกค้าในช่วง 5 เดือนต่อจากนี้ เพื่อลดการเป็นหนี้เสีย”นายชาติชาย กล่าว

ทั้งนี้ นายชาติชาย ในฐานะ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 16 ซึ่จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ได้มีการส่งมอบหน้าที่ให้ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 17 ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค. 2563 นั้น

นายชาติชาย ได้กล่าวว่า ในโอกาสที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในเดือนมิ.ย.นี้ จะขอฝากให้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ ให้เข้ามาช่วยผลักดันการดำเนินการยุทธศาสตร์ 3 ธนาคารให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ เทรดดิชัน แบงก์กิ้ง คือ รูปแบบบริการผ่านสาขาปกติ โดยปรับปรุงสาขาและบริการให้ทันสมัย เพิ่มความสะดวก รวดเร็วให้ลูกค้า 2.ยุทธศาสตร์ การเป็นดิจิทัล แบงก์กิ้ง สำหรับลูกค้ายุคดิจิทัลได้ทุกที่ ทุกเวลา  ทั้งบริการด้านการออม การลงทุน การประกันชีวิต ประกันภัย รวมถึงการขอสินเชื่อ  นอกจากนี้ให้ความสำคัญยุทธศาสตร์ที่ 3  การเป็น ธนาคารเพื่อสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาชนฐานราก ซึ่งจะปรับบทบาทสาขาบางพื้นที่ ให้เป็นศูนย์กลางการให้คำปรึกษาทางการเงิน และการพัฒนาชุมชน ทั้งการแก้ไขหนี้นอกระบบ พัฒนาอาชีพ และการกระจายสินค้าชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/DsSBP

Read Previous

“วิทย์ มหาชน”นำคณะผู้ใจบุญมอบถุงยังชีพ อาชีวศึกษาคนตาบอดขอนแก่น ถูกผลกระทบโควิด-19

Read Next

เปิดแล้ว ! “​สยามอะเมซิ่งพาร์ค” ให้บริการแบบ “New Normal” ตามมาตรการคลายล็อค เฟส 4 เน้นมาตรฐานสวนสนุกโลก