
ปักกิ่ง, 3 ธ.ค. (ซินหัว) — วันพฤหัสบดี (3 ธ.ค.) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ประกาศว่ายานสำรวจ ‘ฉางเอ๋อ-5’ (Chang’e-5) ของจีน ทำการเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์เสร็จสิ้นแล้ว และนำตัวอย่างดังกล่าวใส่ภาชนะพร้อมปิดผนึกเรียบร้อย
ยานสำรวจดังกล่าวถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันอังคาร (24 พ.ย.) และลงจอดทางเหนือของจุดเกิดการก่อตัวของภูเขาไฟ “มอนส์ รึมเคอร์” (Mons Rümker) ในแอ่งขนาดใหญ่ “โอซีเอนัส พรอสซาเลรัม” (Oceanus Procellarum) หรือที่เรียกกันว่า “มหาสมุทรพายุ” (Ocean of Storms) ที่ด้านใกล้ของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งนับเป็นความพยายามครั้งแรกของจีนในการเก็บตัวอย่างวัตถุจากนอกโลก
หลังจากปฏิบัติการบนดวงจันทร์ราว 19 ชั่วโมง ฉางเอ๋อ-5 ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างเมื่อ 22.00 น. ของวันพุธ (2 ธ.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง โดยตัวอย่างดังกล่าวถูกเก็บไว้ในภาชนะที่อยู่ในโมดูลพุ่งขึ้นของยานสำรวจตามแผนที่วางไว้
ทีมนักวิจัยได้ใช้ข้อมูลที่ยานสำรวจส่งมายังศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน จำลองชิ้นส่วนตัวอย่างภายในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับปฏิบัติการบนดวงจันทร์ โดยเรดาร์วิเคราะห์ชั้นหินที่สลายตัวบนดวงจันทร์ (LRPR) และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งบนโมดูลลงจอด ถูกนำมาใช้เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ตามแผน ซึ่งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การเก็บตัวอย่าง
ทั้งนี้ ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ใช้วิธีสุ่มเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ 2 วิธี ได้แก่ “ขุดเจาะ” เพื่อเก็บตัวอย่าง และใช้ “แขนกล” รวบรวมตัวอย่างที่อยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์จากจุดต่างๆ โดยตัวอย่างจากดวงจันทร์ถูกปิดผนึกภายในยานสำรวจ เพื่อความมั่นใจว่าจะถูกเก็บในสภาวะสุญญากาศและไม่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายนอกระหว่างเดินทางกลับมายังโลก
ยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 มีความทนทานต่ออุณหภูมิบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่สูงกว่า 100 องศาเซลเซียส บรรทุกอุปกรณ์ต่างๆ ไว้จำนวนมาก รวมถึงกล้องบันทึกภาพการลงจอด กล้องพาโนรามา เรดาร์วิเคราะห์ชั้นหินที่สลายตัวบนดวงจันทร์ และเครื่องมือวัดเชิงแสงสำหรับตรวจวัดแร่ธาตุบนดวงจันทร์ ซึ่งสามารถตรวจสอบลักษณะภูมิศาสตร์และองค์ประกอบของแร่บนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมทั้งโครงสร้างใต้พื้นผิวตื้นของดวงจันทร์
อนึ่ง ก่อนดำเนินการขุดเจาะเพื่อเก็บตัวอย่าง เรดาร์ข้างต้นได้ทำการวิเคราะห์โครงสร้างใต้ผิวดินบริเวณพื้นที่เก็บตัวอย่างและให้ข้อมูลอ้างอิงแก่การเก็บตัวอย่าง