กรมสุขภาพจิตชี้ “ทัศนคติสุดโต่ง” มีโอกาสเกิดความทุกข์ได้ง่าย

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า  จากการรวบรวมความเห็นและทบทวนองค์ความรู้ในเรื่องความสุข  พบว่า เงื่อนไขที่ทำให้คนเรามีความสุขมี 3 เงื่อนไข คือ 1) เงื่อนไขภายนอกหมายถึง ความสุขจากการได้รับการตอบสนองความพึงพอใจโดยเฉพาะจากประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง เช่น การได้กินอาหารอร่อย ๆ การได้ฟังเพลงเพราะ ถึงจะเป็นความสุขเพียงชั่วคราวก็สามารถประคับประคอง ให้ลืมความทุกข์และสร้างลักษณะนิสัย เห็นความดีงาม จากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน   2) เงื่อนไขจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเช่น การมีเพื่อน มีกัลยาณมิตร มีมนุษย์สัมพันธ์ ย่อมมีโอกาสทั้งการมีความสุข และผ่อนคลายความทุกข์ 3) เงื่อนไขภายในตนเอง ซึ่งเกี่ยวพันกับทัศนคติส่วนตัว  หากเน้นการมีคุณธรรม การทำประโยชน์ต่อสังคม  และดำเนินชีวิต ในทางสายกลาง ย่อมมีโอกาส เกิดทุกข์ได้น้อยกว่าการดำเนินชีวิต หรือ มีทัศนคติแบบสุดโต่ง

“ที่น่าสนใจ  คือ   ความสุข ความทุกข์ เป็นของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับทุกคน เกิดขึ้นชั่วระยะหนึ่งแล้วก็หายไป  แต่จะต่างกันที่การเกิดขึ้น และคงอยู่ของ ความสุข ความทุกข์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ ประสบการณ์ และการสรุปบทเรียนของแต่ละคน  บางคนมีนิสัยสุขได้ยาก บางคนมีนิสัยทุกข์ง่าย ทั้งนี้คนที่ทุกข์ง่าย ควรต้องระวังความคิดตนเอง มองตน มองคน มองโลก อย่างเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงไปข้างลบ  ส่วน คนที่สุขยาก ต้องรู้จักเสพสุข มองโลกด้านสวยงาม มีสุขกับสิ่งเล็กน้อย เป็นนิสัย   นอกจากนี้ยังพบว่า  ความคิดที่ทำให้คนเป็น ทุกข์ คือ ความคิดแบบตีตนไปก่อนไข้ (กังวล)  ความคิดแบบเข้าข้างตนเอง หรือ เข้าข้างคนอื่น สุด ๆ  ความคิดลบ หรือ บวก สุด ๆ กล่าวได้ว่า ความคิดแบบสุดโต่ง” ไม่ว่าด้านบวกหรือลบ คือ ต้นเหตุ ของความทุกข์ ซึ่งทางแก้คือ ต้องรู้ทันความคิด ความรู้สึก  นอกจากนี้ พบว่าแนวทางจัดการกับความทุกข์ทำได้ง่ายๆ เพียงมีพื้นที่  หรือมีงานอดิเรก ที่สามารถปลีกตัวไปแสวงหาความสงบ หรือความสุข ตามที่ตัวเองต้องการ และการมีผู้รับฟังในยามที่เราเป็นทุกข์   ซึ่งญาติมิตรทุกคน สามารถเป็นผู้รับฟังความทุกข์ของเราได้อยู่แล้ว”  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/0kn3x

Read Previous

“น้ำสิงห์”ดึง “ณเดชน์” พรีเซ็นเตอร์ ชวน “ดื่ม…สิ่งที่ใช่ให้ตัวเอง”

Read Next

“มะเร็งลำไส้ห่างไกลได้แค่ใส่ใจความเสี่ยง”