การตรวจปริมาณภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส COVID-19

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ยังคงเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายกันทั่วตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2019 และยังไม่สามารถควบคุมได้ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คน และเศรษฐกิจทั่วโลก การรับมือและแก้วิกฤตการนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะวิถีและวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ การประกอบอาชีพ การได้รับวัคซีนป้องกันโรค รวมถึงการเข้าถึงการตรวจโรคอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม การตรวจโรคอย่างทั่วถึงของประชากรถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการวินิจฉัย การกักกัน รักษาและป้องกันโรค ในลำดับถัดไป การเข้าถึงการตรวจโรคด้วยวิธีที่มาตรฐาน ราคาถูก รวดเร็ว จึงมีความจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์อันยากลำบากนี้

ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยนั้นมีหลากหลายวิธี ในแต่ละวิธีมีหลักการการตรวจ ราคา ระยะเวลาการตรวจ ความถูกต้องแม่นยำที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละวิธีมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกันไป จึงต้องคำนึงถึงจุดประสงค์ในการตรวจของการใช้ในแต่ละวิธีตามสถานะการณ์และกลยุทธการควบคุมโรค การตรวจที่เป็นที่แพร่หลายและยอมรับในปัจจุบันตัวอย่าง เช่น การตรวจด้วย RT-PCR การตรวจด้วย antigen test kit การตรวจภูมิคุ้มกันด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นต้น

ดร. กรัณฑ์ วังไพบูลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ฟิวเจอร์ เฮลท์ อินโนเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด (Finno-Health) ได้ให้ข้อมูล การตรวจปริมาณภูมิคุ้มกันด้วย surrogate viral neutralization assay (sVNT) ต่อเชื้อไวรัส COVID-19 คือ การวัดปริมาณภูมิคุ้มกันทั้งหมดในร่างกายที่สามารถยับยั้งการจับกันระหว่างเชื้อไวรัส COVID-19 และ เซลล์มนุษย์ โดยปกติแล้วเมื่อไวรัส COVID-19 เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสจะเริ่มทำการจู่โจมเซลล์มนุษย์โดยการจับตัวรับที่ผิวเซลล์ ที่เรียกว่า angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) โดยใช้โปรตีนที่บริเวณของหนามไวรัส (spike) ในการเข้าจับ (รูป A) ดังนั้นการตรวจภูมิคุ้มกันจะทำในระบบที่จำลองการจับกันระหว่างโปรตีนหนามไวรัส COVID-19 และตัวรับ ACE2 ของเซลล์มนุษย์ เมื่อนำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันใส่ลงไปในการจำลองนี้ ภูมิคุ้มกันในเลือดดังกล่าวจะไปขัดขวางการจับระหว่างโปรตีนหนามไวรัส COVID-19 และตัวรับ ACE2 ของเซลล์มนุษย์ และวัดปริมาณส่วนต่างที่เหลือของ ACE2 ที่จับกับหนามโปรตีนไวรัสได้ ก็จะสามารถคำนวณปริมาณภูมิคุ้มกันของผู้ทดสอบได้ (รูป B และ C)

โดยทั่วไปแล้วจะรายงานผลเป็นเปอร์เซ็นต์ของการยับยั้ง (% inhibition) โดยภูมิคุ้มกันที่วัดนี้จะไม่เจาะจงว่าเป็นภูมิคุ้มกันชนิดใดของมนุษย์ แต่เป็นผลรวมทั้งหมดของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส COVID-19 ในเลือด (ผลรวมแอนติบอดีชนิดต่าง ๆ และ ภูมิคุ้มกันจากกลไกลอื่น ๆ) ที่เกิดขึ้นในร่างกายคนไม่ว่าจะเกิดจากกลไกลใด ๆ ก็ตาม จึงทำให้บางครั้งค่านี้จึงอาจจะไม่สอดคล้องกับปริมาณแอนติบอดี้ ในผู้ทดสอบบางราย เนื่องจากการยับยั้งเกิดจากภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้นข้อดีของการวัดค่าแบบนี้คือ มีความไวในการตรวจ ใช้ปริมาณเลือดน้อย มีความแม่นยำ และความถูกต้องสูงมาก โดยมีค่า sensitivity และ specificity มากถึง 99% และ 100% ตามลำดับ วิธีนี้จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและแพร่หลาย เนื่องจากเป็นการสะท้อนปริมาณและประสิทธิภาพของภูมิคุ้มของมนุษย์อย่างเจาะจงต่อเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ใกล้เคียงที่สุดกับความเป็นจริงในร่างกายมนุษย์ ณ ปัจจุบัน การตรวจภูมิแบบนี้สามารถใช้ตรวจได้ว่า หากผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีภูมิขึ้นแสดงว่ามีการติดเชื้อ COVID-19

นอกจากนี้ ดร. กรัณฑ์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีน สามารถตรวจภูมิตัวผู้รับวัคซีนได้ หรือ เป็นประโยชน์ในการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้รับวัคซีนว่าภูมิยังคงอยู่เหลือเพียงพอปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ COVID-19 โดยหากผู้รับวัคซีนมีค่าการยับยั้งตั้งแต่ 68% ขึ้นไปจะถือว่า มีภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพที่ร่างกายสามารถป้องกันเชื้อ COVID-19ได้ สำหรับผู้ที่รับวัคซีนแล้วจะไม่สามารถระบุได้ว่ามีการติดเชื้อซ้ำด้วยการตรวจภูมิแบบ sVNT จะต้องตรวจร่วมกับวิธีอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อซ้ำ เช่น การตรวจหาแอนติบอดี้ชนิด IgM หรือ RT-PCR เป็นต้น

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/VTTIb

Read Previous

ไอคอนสยาม จัดเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ รวมร้านอร่อยระดับตำนาน

Read Next

จีนเผย ‘ยอดขนส่งสินค้า-ตู้คอนเทนเนอร์’ โตต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม