สาระน่ารู้กับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เรื่อง “ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง” เพื่อพัฒนาประเทศแบบบูรณาการ

การพัฒนาประเทศโดยการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อลดความแออัดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สนับสนุนการพัฒนาเมืองศูนย์กลางหลักและศูนย์กลางรอง การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้า การบริการ พร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กันไป ส่งผลให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลง จนนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ และความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบท “การผังเมือง” จึงเป็นกลไกหรือเครื่องมือใช้ในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเพื่อจัดระเบียบของการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันของสังคม ถึงแม้ว่าพื้นที่นั้นในปัจจุบันจะมีสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นอย่างไรก็ตาม หากจะนำมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลักสากลจะมีการพัฒนาภายใต้กฎกติกาการใช้พื้นที่ที่สังคมตกลงร่วมกันภายใต้กรอบการกำหนดแนวทางการพัฒนาด้วยการผังเมืองเพื่อสร้างภาพอนาคตที่ดี จึงได้กำหนดหลักการพื้นฐานหรือข้อปฏิบัติที่ผู้เกี่ยวข้องกับการผังเมืองพึงปฏิบัติ หรือ “ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง” ไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยให้คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติเป็นผู้จัดทำ แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามหน้าที่และอำนาจของตน

นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวว่า “การผังเมือง” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงลักษณะของการใช้พื้นที่ตามศักยภาพและ ความเหมาะสม ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาเมืองให้มีการเติบโตที่ยั่งยืนและสร้างประโยชน์ให้ทุกคนอย่างทั่วถึง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หมวด กล่าวคือ

หมวด 1 หลักการเชิงนโยบาย ว่าด้วยเรื่องของหลักการที่สำคัญต่อความสำเร็จของระบบการผังเมืองของประเทศที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน
หมวด 2 หลักการพื้นฐาน ว่าด้วยเรื่องของหลักการที่ผู้วางและจัดทำผัง และผู้ปฏิบัติให้เป็นไปตามผังต้องยึดถือและดำเนินการในการวางและจัดทำผังเมืองทุกระดับ
หมวด 3 หลักการเชิงพื้นที่ ว่าด้วยเรื่องของหลักการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ ให้เหมาะสม

ดังนั้น ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง จึงเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐที่จะต้องดำเนินงานภายใต้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี นำไปใช้เป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานต่อไป

รับชมเพิ่มเติมได้ใน.. (Link youtube)
https://youtu.be/FgREQDL2_Pg

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/XyEH6

Read Previous

อำเภอชนบทจีนหนุนการเงินสีเขียว พัฒนาอุตสาหกรรมป่าไผ่ดูดซับคาร์บอน

Read Next

บทวิเคราะห์ : การป่าวร้อง “ตัดขาดห่วงโซ่อุปทาน” จะสร้างความเสียหายต่อตัวเองและผู้อื่น