‘อาคม’เผย เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มอีก 10% เป็น 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% นั้น จะทำให้รัฐบาลมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีช่องแล้วรัฐบาลจะเดินหน้ากู้เงินตามจำนวนดังกล่าวทั้งหมด แต่การกู้เงินจะเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น โดยปัจจุบันรัฐบาลยังมีวงเงินกู้จาก พ.ร.ก.โควิด เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินสำหรับใช้ในปีงบประมาณ 2565 อีก 3.5 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (ก.ย. 64) สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 58.96% แม้ว่าจะยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด เพิ่มเติม ที่ยังเหลือวงเงินอีก 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการกู้เงินในส่วนนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยหลุดกรอบความยั่งยืนทางการคลัง จึงจำเป็นต้องมีการขยายกรอบเพดานเพิ่มขึ้น

“การปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะ วัตถุประสงค์คือต้องการให้มีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยปัจจุบันรัฐบาลยังมีวงเงินกู้จาก พ.ร.ก.โควิดเพิ่มเติมเหลืออยู่ แต่ถ้าสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อ หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือรัฐบาลต้องการมีมาตรการกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ก็ค่อยมาพิจารณากันหลังจากนี้ แต่หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายได้เร็ว การคลายล็อกดาวน์สามารถทำได้เต็มที่มากขึ้น เปิดประเทศทำได้ตามแผน เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ ความจำเป็นในการใช้เงินและการกู้เงินก็จะลดน้อยลงไปตามลำดับ”

นายอาคม กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กำชับเรื่องการหารายได้ใหม่ โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งตรงนี้จะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ รวมกับรายได้จากกำลังการผลิตเดิม โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติหลังเศรษฐกิจเปิดเต็มที่ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไปอีก รายได้เหล่านี้จะเข้ามาช่วยขยายสัดส่วนรายได้ของประเทศ และช่วยลดเพดานหนี้สาธารณะอาจจะไม่ถึง 70%

สำหรับรายได้จากภาษี ต้องยอมรับว่าในปีนี้ ซึ่งใช้ฐานรายได้ของปี 2563 ในการคำนวณภาษี จะได้รับผลกระทบแน่นอนทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะทำได้ต่ำกว่าประมาณการ เพราะภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่หากสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวฐานภาษีก็จะกลับมา และในช่วงที่ผ่านมากรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ก็จะเป็นตัวช่วยเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในระยะต่อไป

นายอาคม กล่าวต่อว่า ในส่วนความคืบหน้าการใช้เม็ดเงินตาม พ.ร.ก.โควิด เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบการกู้เงินในปีงบประมาณ 2564 ไว้ 1.5 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันมีการกู้เงินตามโครงการที่ได้เสนอเข้ามาแล้ว 1.2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าภายในเดือน ก.ย. นี้ จะสามารถกู้ได้ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผน โดยวงเงินที่เหลืออีก 3.5 แสนล้านบาท จะดำเนินการกู้เงินตามความต้องการใช้ในปีงบประมาณ 2565

“เงินกู้ส่วนที่เหลือยังมีภาระที่ต้องใช้ ทั้งการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานราก เพื่อให้สามารถกลับมาเดินหน้าได้ควบคู่กันทุกส่วน ซึ่งระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเสนอโครงการให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ซึ่งมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นผู้พิจารณา” นายอาคม กล่าว

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/GpjeG

Read Previous

TQR ลุยพัฒนากรมธรรม์รูปแบบใหม่ต่อเนื่อง

Read Next

รฟท.เปิดเดินรถไฟ เพิ่ม 18 ขบวน 23 ก.ย.นี้ เผยจะไม่หยุดรับ-ส่งช่วงเคอร์ฟิวพื้นที่แดงเข้ม