ส่งออกหักทองคำเดือน มิ.ย. หดตัว -8.7%YOY อีไอซีคงมุมมองส่งออกทั้งปีหดตัว -1.6%

อีไอซี (Economic Intelligence Center : EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทวิเคราะห์หัวข้อ “ส่งออกหักทองคำเดือน มิ.ย. หดตัว -8.7%YOY อีไอซีคงมุมมองส่งออกทั้งปีหดตัว -1.6%” ซึ่งเขียนโดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ, พนันดร อรุณีนิรมาน และ จิรายุ โพธิราช ระบุว่า มูลค่าการส่งออกไทยเดือน มิ.ย. 2019 โดยรวมหดตัวที่ -2.1%YOY แต่หากหักทองคำ การส่งออกหดตัวถึง -8.7%YOY (จากการส่งออกทองคำเดือน มิ.ย. ขยายตัวในระดับสูงถึง 317.4%YOY) โดยหากไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ -4.4%YOY

สินค้าสำคัญที่มีการหดตัวยังคงเป็นสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-15.5%YOY) เคมีภัณฑ์และพลาสติก (-19.3%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (-20.6%YOY) นอกจากนี้ ยังมีสินค้าส่งออกประเภทอื่นที่มีการหดตัว เช่น ข้าว (-34.6%YOY) เม็ดพลาสติก (-17.6%YOY) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-5.9%YOY) ผลิตภัณฑ์ยาง (-9.2%YOY) และน้ำตาลทราย (-19.4%YOY) ขณะที่ สินค้าสำคัญที่มีการขยายตัวในเดือน มิ.ย. คือยางพาราที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ 8%YOY จากการส่งออกไปยังตลาดจีน (+48.7%YOY) และสหรัฐฯ (+10.4%YOY)

การส่งออกหดตัวเกือบทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนที่หดตัวถึง -14.9%YOY รวมถึงการส่งออกไป CLMV ที่หดตัว -9.3%YOY โดยมีการหดตัวทั้งการส่งออกไปกัมพูชา (-12.5%YOY หดตัวมากจากการส่งออกจักรยานยนต์) ลาว (-6.6%YOY หดตัวมากจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป) เมียนมา (-18.0%YOY หดตัวมากจากการส่งออกเครื่องจักร) และเวียดนาม (-4.5%YOY หดตัวมากจากการส่งออกเม็ดพลาสติก) อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังอินเดียยังสามารถขยายตัวได้ที่ 8.1%YOY
มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -9.4%YOY จากการหดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวถึง -18.8%YOY ขณะที่ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบก็มีการหดตัวเช่นกันที่ -11.3%YOY และ -5.2%YOY ตามลำดับ ซึ่งจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ยังต่ำกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/8ldNq

Read Previous

ส่งออกเดือนมิ.ย. ติดลบ 2.15% ชี้ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทำให้ครึ่งปีแรก 62 ติดลบรวม 2.91%

Read Next

แบรนด์รังนกแท้ ปลดล็อกข้อจำกัดของอายุ ด้วยการดูแลตัวเองให้อ่อนเยาว์จากภายใน