นักวิทย์ออสฯ ชี้ ‘อัลปากา’ อาจถือกุญแจสำคัญ ไขวิธีรักษาโควิด-19

แคนเบอร์รา, 11 ส.ค. (ซินหัว) — ไม่นานนี้ คณะนักวิจัยจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของออสเตรเลียเปิดเผยว่าระบบภูมิคุ้มกันพิเศษของอัลปากา อาจเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาวิธีรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

องค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งออสเตรเลีย (ANSTO) และสถาบันวอลเตอร์ แอนด์ อีไลซา ฮอลล์ (WEHI) เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (11 ส.ค.) ว่าสถาบันทั้งสองกำลังศึกษาแอนติบอดีของอัลปากาเพื่อค้นหาวิธีรักษาโควิด -19

นักวิจัยได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับอัลปากาโดยใช้โปรตีนหนาม (spike protein) จากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้จับกับเซลล์ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อ จากนั้นจึงสามารถแยกนาโนบอดี (nanobody) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแอนติบอดีที่จะไปจับกับไวรัสจนไวรัสไม่สามารถจับกับเซลล์ร่างกายได้ ก่อนที่นักวิจัยจะทำการคัดกรองนาโนบอดีเพื่อหาความสามารถในการยับยั้งไวรัส

(แฟ้มภาพซินหัว : อัลปากาที่ผ่านการตัดขนแล้วที่ฟาร์มอัลปากาในอำเภอไถอัน มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2020)

จากนั้น นักวิจัยได้ใช้ระบบลำเลียงแสงไมโครโฟกัส คริสตัลโลกราฟี หรือเอ็มเอ็กซ์2 (MX2) ที่ศูนย์ซินโครตรอนออสเตรเลีย (Australian Synchrotron) ขององค์การฯ เพื่อศึกษาว่าระบบภูมิคุ้มกันของอัลปากต่อสู้กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างไร

ไมเคิล เจมส์ นักวิทยาศาสตร์วิจัยหลักอาวุโสของศูนย์ฯ ระบุว่าซินโครตรอนซึ่งเป็นครื่องเร่งอนุภาคชนิดหนึ่ง เคยถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาโปรตีนของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของไวรัส (replication) ภายในเซลล์ต่างๆ และโครงสร้างของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19

(แฟ้มภาพซินหัว : อัลปากาที่สวนสัตว์ชวีสุ่ย นครลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2017)

“นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้ดำเนินโครงการเข้าถึงข้อมูลโรคโควิด-19 แบบรวดเร็ว เพื่อช่วยให้คณะนักวิจัยชาวออสเตรเลียและนานาชาติสามารถไขโครงสร้างอะตอมของโปรตีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” เจมส์ระบุในแถลงการณ์

“เรากำลังศึกษาโปรตีนต่างๆ ที่สามารถช่วยต่อสู้กับไวรัสหรือป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้ ไม่ว่าจะด้วยตัวมันเอง หรือเมื่อไปผูกติดกับโมเลกุลชีวภาพหรือยาต้านไวรัสอื่นๆ”

“ในการนี้ ระบบเอ็มเอ็กซ์2 อยู่ระหว่างการใช้งานเพื่อระบุโครงสร้างของนาโนบอดีที่ทำหน้าที่ยับยั้งเหล่านี้ วมกับจุดสำคัญของโปรตีนหนามเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกโครงสร้างของการยับยั้ง” เจมส์กล่าว

“โครงสร้างเหล่านี้จะเผยข้อมูลล้ำค่าที่จะช่วยพัฒนาวิธีการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยแอนติบอดีต่อไป” เจมส์ทิ้งท้าย

ข่าว – ภาพ : xinhuathai

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/Y2hFA

Read Previous

ALT โชว์ไตรมาส 2/63 กำไรพุ่ง 222% ครึ่งปีหลังบุกกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า-ผนึกพันธมิตรรุก 5G

Read Next

ถึงเวลา “แอ็ป-สตาช่า” ปล่อยซิงเกิลเด็ด.. THAT GUY (เค้าคนนั้น)