นักวิทย์ออสเตรเลียจ่อทดสอบ ‘ยาพ่นจมูก’ ต้านโควิด-19

ซิดนีย์, 25 ธ.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยชีวการแพทย์ซึ่งนำโดยทีมชาวออสเตรเลียกำลังทดสอบว่ายาพ่นจมูกที่มักใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่เป็นอันตรายนั้น สามารถป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ด้วยหรือไม่

เมื่อวันพฤหัสบดี (23 ธ.ค.) บทความซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นระบุว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นและมหาวิทยาลัยโมนาช ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร เชื่อว่าเฮพาริน (Heparin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด สามารถลบล้างฤทธิ์ของโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นตัวการที่ไวรัสใช้เจาะเข้าเซลล์ร่างกายเพื่อแพร่เชื้อ

เฮพาริน มีข้อได้เปรียบหลายด้าน อาทิ ราคาถูก ใช้งานง่าย และสามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้องได้ โดยแกรี แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพปอดของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นระบุว่า ประชาชนสามารถฉีดพ่นเฮพารินเข้ารูจมูกข้างละ 2 ครั้ง และพ่น 3 ครั้งต่อวัน

จากข้อมูลข้างต้น เฮพารินจึงเป็นยาที่เหมาะสมต่อการเสริมสร้างเกราะป้องกันเพิ่มเติมจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับประชากรที่เปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า

แอนเดอร์สันระบุว่าเชื้อไวรัสฯ แพร่เชื้อสู่เซลล์ในจมูกก่อน ด้วยการยึดเกาะกับเฮราพันซัลเฟต (herapan sulphate) บนพื้นผิวเซลล์ในจมูก ยาพ่นจมูกตัวนี้มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับเฮราพันซัลเฟต จึงสามารถเป็นเหยื่อล่อและรัดพันโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสฯ ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้แอนเดอร์สันระบุว่ายาพ่นจมูกตัวนี้มีประสิทธิภาพต่อเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์โอไมครอนด้วย

“เราจำเป็นต้องทดสอบประสิทธิภาพที่แท้จริงของยาเฮราพิน ด้วยการทดลองทางคลินิกที่ได้รับการออกแบบอย่างรัดกุม ปกปิดข้อมูลสองทาง และควบคุมด้วยยาหลอก ซึ่งจะเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ”

คณะนักวิทยาศาสตร์จะจัดการทดลองทางคลินิกสำหรับยาเฮราพินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นเวลารวม 6 เดือน ที่โรงพยาบาลนอร์ธเทิร์นในเมืองเมลเบิร์น โดยใช้แพลตฟอร์มการตรวจสอบและการรักษารูปแบบใหม่ที่ทำให้คณะนักวิจัยสามารถเข้าถึงและรักษาผู้ป่วยจากทางไกลภายใน 24 ชั่วโมงหลังการวินิจฉัยโรค

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/bYM0i

Read Previous

‘เกาหลีใต้’ พัฒนาน้ำยาตรวจโควิด-19 จับ ‘โอไมครอน’ รวดเร็วในไม่กี่ชั่วโมง

Read Next

ฟอสซิล ‘ตัวอ่อนไดโนเสาร์’ ในไข่ เชื่อมโยงบรรพบุรุษสัตว์ปีก