แบรนด์รถยนต์ NEV สัญชาติจีน ตบเท้ารุกตลาดยุโรปจากทุกมิติ

แฟ้มภาพซินหัว : รถยนต์จากนีโอ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ในงานมหกรรมแสดงยานยนต์ไชน่า (เทียนจิน) ออโต โชว์ 2021 ที่นครเทียนจินทางจีนตอนเหนือ วันที่ 29 ก.ย. 2021

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ต่างมุ่งขยายธุรกิจในตลาดยุโรป ที่ซึ่งความต้องการรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของผู้บริโภคกำลังเพิ่มสูงขึ้น

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของจีนและบริษัทพันธมิตรในยุโรปต่างกำลังเร่งความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ เชื้อเพลิงเมทานอล และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าท้องถิ่น

เดือนตุลาคมนี้ นีโอ (NIO) ผู้ผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีน ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 3 รุ่นในประเทศยุโรป 4 แห่ง ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน นับเป็นก้าวล่าสุดในการรุกตลาดยุโรปเพิ่มเติมของบริษัทหลังเพิ่งเข้าสู่ตลาดนอร์เวย์เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า

ด้านบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตยานยนต์พลังงานใหม่สัญชาติจีน ประกาศเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ว่าจะจัดหารถพลังงานใหม่ 100,000 คันให้กับซิกท์ (Sixt) บริษัทรถเช่าสัญชาติเยอรมันระหว่างปี 2022-2028 และจะส่งมอบรถยนต์รุ่นออตโต 3 (Atto 3) หลายพันคันให้กับซิกท์ในยุโรป ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ข้อมูลของอินโนเวฟ (Inovev) บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ตลาดรถยนต์ทั่วโลก ระบุว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2022 มีการขึ้นทะเบียนรถยนต์ใหม่ที่ผลิตโดยผู้ผลิตสัญชาติจีนประมาณ 75,000 คันในยุโรป และคาดว่าตัวเลขนี้จะแตะ 150,000 คัน ภายในปี 2023

ตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี มีการขึ้นทะเบียนรถยนต์ฝีมือจีนผลิตประมาณ 7,000 คัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของส่วนแบ่งตลาดของเยอรมนี อ้างอิงจากข้อมูลของสมาพันธ์ยานยนต์แห่งประเทศเยอรมัน (ADAC) สมาพันธ์รถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

ชาวยุโรปรู้จักแบรนด์รถยนต์พลังงานใหม่ของจีนมากขึ้น สืบเนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาสีเขียวของหลายๆ ประเทศ ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าปัจจุบันยานยนต์พลังงานใหม่คิดเป็นร้อยละ 20 ของรถยนต์ใหม่ที่ถูกจำหน่ายในยุโรป และส่วนใหญ่เป็นรถที่ขายโดยผู้ผลิตสัญชาติจีน ทั้งรถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รถยนต์ไฟฟ้าล้วนและอื่นๆ

ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปชื่นชอบยานยนต์พลังงานใหม่ของจีน เป็นเพราะราคาคุ้มค่า มีห่วงโซ่อุปทานมั่นคง ใช้เทคโนโลยีที่โดดเด่น และมีคุณภาพสูง ทั้งยังมีเครือข่ายด้านการตลาดและบริการหลังการขายที่ดีด้วย

เช่น แบรนด์เอ็มจี (MG) ของจีนที่มีการทำธุรกิจในประเทศยุโรป 16 แห่งนั้น ก็มีการเปิดสถานที่ขายรถในยุโรปแล้วถึง 400 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 65 แห่งในปี 2020 และคาดว่าจะเพิ่มแตะ 650 แห่งภายในสิ้นปี 2022

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เสี่ยวเผิง (XPENG) ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจีน ได้เปิดสโตร์หรือโชว์รูมแห่งแรกของตนในกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน และหลังจากรุกตลาดอยู่ราวหกเดือน ก็มีการเปิดสโตร์ในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์

ตลาดยานยนต์พลังงานใหม่ที่ขยายตัวต่อเนื่องในยุโรป ทำให้ความต้องการแบตเตอรี่เก็บกักพลังงานเพิ่มขึ้นด้วย ผู้จัดหาแบตเตอรี่รถยนต์ของจีนจำนวนหนึ่งจึงเริ่มลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในยุโรป อย่างเช่น บริษัท โกชัน ไฮเทค (Gotion High-tech) ผู้ผลิตแบตเตอรี่พลังงานลิเธียมไอออน ที่ได้สร้างฐานผลิตในเยอรมนีเมื่อเดือนมิถุนายนหลังเขัาซื้อกิจการของบอช (Bosch) บริษัทสัญชาติเยอรมัน โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิต 18 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี

ในเดือนเมษายน บริษัท คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ ซีเอทีแอล (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของจีนได้ลงทุนเงินมูลค่า 1.8 พันล้านยูโรในโรงงานแบตเตอรี่ในรัฐทือริงเงินของเยอรมนี ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 60 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในปี 2026

นอกจากยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว รถยนต์เชื้อเพลิงเมทานอลก็ยังถูกมองว่าเป็นวิธีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ของภาคการขนส่ง

พฤษภาคมปีนี้ รถยนต์พลังงานเมทานอลที่จี๋ลี่ (Geely) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนพัฒนาขึ้นเองนั้น ก็ได้มาจอดโชว์อยู่ที่บูธแห่งหนึ่งในงาน UNITI expo ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองสตุทการ์ทของเยอรมนี และถือเป็นงานแสดงสินค้าชั้นนำของยุโรป ในด้านอุตสาหกรรมค้าปลีกน้ำมันและบริการล้างรถที่เมืองสตุทการ์ท บริษัทเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติของจีนอย่างโมเมนตา (Momenta) ก็มีการส่งรถยนต์ทดสอบวิ่งบนถนนทุกวัน เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลของบริษัทช่วยแก้ปัญหาการขับขี่ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันได้แบบอัตโนมัติทั้งยังมีต้นทุนไม่สูง รวมถึงคำนึงถึงความเคยชินและพฤติกรรมด้านการขับขี่ที่แตกต่างระหว่างชาวจีนและชาวยุโรป เพื่อปรับอัลกอริธึมการขับขี่อัตโนมัติให้เหมาะกับผู้ใช้ชาวยุโรป

ปัจจุบัน นิยามของยานยนต์กำลังเปลี่ยนไปเพราะซอฟต์แวร์และชิปใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น เฟอร์ดินัน ดูเดินฮาฟา (Ferdinand Dudenhöffer) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยานยนต์เยอรมนี (CAR) แสดงความเห็นว่าธุรกิจสัญชาติเยอรมันรวมถึงประเทศอื่นๆ ในยุโรป ควรร่วมมือกับบริษัทจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการขับขี่อัตโนมัติ เพื่อที่จะได้ไม่ตกขบวนในภาคการคมนาคมขนส่งในอนาคต

เรียบเรียงโดย Su Dan, Xinhua Silk Road, https://en.imsilkroad.com/p/330640.html

The short URL of the present article is: https://wealthnbiz.com/Da2dp

Read Previous

เซียน TikTok ไม่ควรพลาด!!! ออมสินจัดแข่ง “GSB TikTok Challenge : ออมเงินกับออมสิน”

Read Next

หอการค้าไทย-จีนมอบถุงยังชีพ 5,000 ชุด แก่ผู้ว่าฯกทม. เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมใน กทม.